impression

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง


       วันปีใหม่ ปีใหม่ นี้ นอกจากเราจะมอบ คำอวยพรปีใหม่ กลอน กลอนปีใหม่ ให้กับคนที่เรารักแล้ว เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับ ปีใหม่ เราไปไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวงกันเถอะ ว่าแล้วเราไปดูกันดีกว่าว่า วันปีใหม่ ปีใหม่ นี้เราจะไปไหว้พระที่ไหนกันบ้าง 

       เนื่องด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม "ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง" ขึ้น ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 ม.ค. 2551 บริเวณ พระอารามหลวง รอบเกาะรัตนโกสินทร์
       สำหรับ 9 พระอารามหลวงนั้น ได้แก่ "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม" หรือที่รู้จักกันดีว่า "วัดพระแก้ว" ตามคติที่ว่า "เพื่อจิตใจสะอาด ดุจรัตนตรัย" เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ที่นำมาจากกรุงเวียงจันทร์ แต่แท้ที่จริงแล้ว พบเจอวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส
สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกไม้


      ต่อมาคือ "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" หรือ "วัดโพธิ์"ตามคติที่ว่า "ร่มเย็นเป็นสุข" จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง
สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 9 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว 11 แผ่น




        แห่งที่สามคือ "วัดบวรนิเวศวิหาร" ตามคติที่ว่า "พบแต่สิ่งดีงามในชีวิต"สร้าง ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 สร้างขึ้นด้วยศิลปะไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์ คือ พระประธาน อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน เพชรบุรี และ พระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก
สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 3 ดอก


  พระอารามหลวงแห่งต่อมาคือ "วัดสระเกศ" ตามคติที่ว่า "เสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคล" ทั้งนี้ วัดสระเกศ ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อ วัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325
        ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้าง พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัช กาลที่ 5
สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 3 ดอก

       ถัดมาคือ "วัดอรุณราชวราราม" ตามคติที่ว่า "ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกวันคืน" ถือเป็น พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ พระอารามหลวงแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมชื่อว่า"วัดมะกอก" ต่อมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดแจ้ง" และได้ขยายเขตพระราชฐาน จนวัดแจ้งกลายเป็นวัดในพระราชวัง ครั้นในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอรุณราชธาราม"

          
      ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม"
สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 3 ดอก เทียนคู่


           พระอารามแห่งที่ 6 คือ วัด "สุทัศน์เทพวราราม"ตามคติที่ว่า "วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป" ถือเป็นวัดที่อยู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ตามตำรับมหาพิชัยสงคราม เพื่อให้เป็นวัดศูนย์กลางของกรุงเทพฯ การก่อสร้างได้สำเร็จตามแผนผังที่กำหนดไว้ในสมัยรัชกาลที่ 7 จากการวางผังที่ดีตั้งแต่แรกเริ่ม จึงทำให้ได้รับการยกย่องเป็น วัดที่มีการวางผังได้สัดส่วนสวยงามที่สุด 

         พระอุโบสถภายในวัดสุทัศน์เทพวราราม ถือว่าเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมที่สวยงามของช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานนามว่า "พระพุทธตรีโลกเชษฐ" หล่อโลหะปางมารวิชัยเบื้องหน้าประดิษฐานพระอสีติมหาสาวก 80 องค์
สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป  3 ดอก เทียน 1 เล่ม

       ต่อมาคือ "วัดชนะสงคราม" ตามคติที่ว่า "มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง" เดิมชื่อ "วัดกลางนา" ถือ เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ราชวรมหาวิหาร มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากรัชกาลที่ 1 ทรงแต่งตั้งพระราชคณะฝ่ายรามัญเป็นผู้ดูแล คนทั่วไปจึงเรียกตามภาษามอญว่า "วัดตองปุ" เมื่อสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงกรีฑาทัพกลับพระนครหลังจากทรงมีชัยในสงคราม 9 ทัพ ทรงทำพิธีสรงน้ำและเปลี่ยนเครื่องทรงตามพระราชพิธีโบราณที่วัดแห่งนี้ก่อน เสด็จเข้าพระบรมมหาราชวัง จึงทรงโปรดฯ ให้บูรณะพระอารามใหม่เมื่อปี 2330 จากนั้นรัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชทานนามว่า "วัดชนะสงคราม"
        ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐาน "พระพุทธนรสีหจรีโลกเชฏฐ์" เป็นพระประธานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยปูนปั้นแล้วบุด้วยดีบุกลงรักปิดทองปางมารวิชัย ที่ฐานชุกชีมีพระพุทธรูปโบราณซึ่งสร้างสมัยเดียวกันประดิษฐานล้อมรอบ 15 องค์ สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 1 ดอก(พระประธานภายในโบสถ์) เครื่องสักการะสำหรับเคารพรูปสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท คือ ธูป 5 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 1 ดอก


        ถัดมาคือ "วัดระฆังโฆสิตาราม"ตามคติที่ว่า "มีชื่อเสียงโด่งดัง มีคนนิยมชมชอบ" จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร สำหรับวัดระฆังโฆสิตาราม เดิมชื่อ "วัดบางว้าใหญ่" สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
        ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ ได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่งซึ่งมีเสียงไพเราะมากจึงทรงให้นำไปไว้ที่วัดพระแก้ว โดยทรงสร้างระฆัง 5 ลูกมาไว้ที่วัดแทน แล้วพระราชทานนามว่า "วัดระฆังโฆสิตาราม" เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้เปลี่ยนเป็น "วัดราชคุณฑิยาราม" ( คัณฑิแปลว่า ระฆัง ) แต่คนทั่วไปไม่นิยมยังคงเรียกกันว่า "วัดระฆัง" มาจนทุกวันนี้
สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 3 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว

        ส่วนพระอารามหลวงแห่งสุดท้ายคือ "วัดกัลยาณมิตร" ตามคติที่ว่า "เดินทางปลอดภัย มีมิตรไมตรีที่ดี" วัดกัลยาณมิตร จัดเป็น พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) สร้างถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
        ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (ป่าเลไลย์) ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระราชทาน เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงพุทธประวัติ และแสดงชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3 และยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4
สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 3 ดอก เทียนแดงคู่ ดอกไม้พวงมาลัย


   
     เป็นอย่างไรบ้างคะ การเดินทางไหว้พระในแต่ละวัด ซึ่งแต่ละแห่งก็ให้คติที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราคาดว่าทุกท่านจะได้รับเหมือนๆ กันคือ ความเป็นสิริมงคล และความสุขทางใจ ที่หาซื้อไม่ได้แน่นอน


ที่มา :  http://hilight.kapook.com/view/18898







พักกาย พักใจ ณ ตลาดน้ำศิลปะ

         หลากวิกฤตที่ถาโถมเข้าใส่ อาจทำให้หลายคนรู้ท้อ จนคิดว่า ความสุข ได้หล่นหายไปจากใจ แต่หลังผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้าย ฟ้าย่อมสวยงามเสมอ ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมภูมิไม่หวั่นน้ำ เดือนนี้เราจึงขอชวนคุณมาท่องเที่ยวให้เพลินใจไปกับห้วงเล็กๆ ที่มีทั้งน้ำและศิลปะที่จะเติมความสุขให้กับทุกชีวิต

        หลังจากน้องน้ำลาจาก ผู้สัญจรที่ต้องการเดินทางไปยังจังหวัดสุดฮอตอย่าง นครราชสีมา ก็สามารถจับรถจับลาจากอนุเสาว์รีชัยสมรภูมิมาลงที่กลางดงได้ไม่ยากเย็นด้วยราคาค่าตั๋วเพียง 120-140 บาท แต่ถ้าอยากชิลแบบแวะไปเรื่อย ก็แค่ใช้เส้นทางถนนสายสายมิตรภาพยิงยาวมาด้วยระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานคร ก็จะเจอด่านกลางดง จากนั้นให้เข้าไปกลับรถแล้วชิดซ้ายหักพวงมาลัยเข้าซอยของไร่องุ่นสุพัตตรา งานนี้จะแวะชิมแวะเพลินกันก่อนไปยังจุดหมายปลายก็ได้ จากนั้น เมื่อเจอสามแยกบุญบันดาลให้เลี้ยวขวาขับตามป้ายไปเรื่อยๆ ก็จะถึง ตลาดน้ำศิลปะ เป็นอันว่า เหยีบเบรคแล้วจอดรถ


       สำหรับ ตลาดน้ำกลางดง หรือ ตลาดน้ำศิลปะ ที่เปิดมาได้ประมาณ 2 ปี ในช่วงแรกๆ เปิดให้เข้าชมฟรี แต่ไม่รู้ว่ามีแต่คนเดิน จนละเลยการซื้อหรืออย่างไร ทางตลาดจึงมีนโยบายเก็บค่าผ่านทางเป็นเงิน 60 บาท ซึ่งคุณสามารถรับประทานอาหารได้ฟรีหนึ่งจาน รับรู้รายละเอียดคร่าวๆ ไปแล้ว ก็ถึงเวลาของสองเท้าก้าวเดินให้มายังตลาดน้ำศิลปะ ซึ่งซุ้มขายของก่อนเข้าสู่ภายในตัวตลาดจะเป็นพ่อค้าแม่ขายที่ขนผักและผลไม้รสเลิศจากสวนในบ้านมาวางขายอย่างเรียงราย ทั้งมะปราง แก้วมังกร กระหล่ำปลีหัวโต และข้าวโพดหวาน ที่ต้องบอกเลยว่า ร้านข้าวโพดหวานต้มที่มีพิกัดอยู่ตรงทางเข้า เด็ดจริงๆ

     เดินลัดเลาะเข้ามาอีกนิด คุณอาจจะงงว่า เอ๊ะ... มาตลาดน้ำแล้วไหงน้ำน้อยจัง แน่นอนว่า คุณไม่ได้ตาฝาดหรือไม่ใช่ฤดูน้ำหลากแต่อย่างไร เพราะตลาดน้ำศิลปะแห่งนี้ไม่เหมือนกับตลาดน้ำอื่นๆ ที่มีขบวนแห่เรือขายของมาจอดขวางเต็มลำคลอง เพราะที่นี่ให้อารมณ์คล้ายๆ กับเดินอยู่บนกระดานไม้ที่พาดผ่านบนสายน้ำ โดยมีร้านค้าหลากสไตล์ตั้งตามข้างทาง แต่ละมุมมีการจัดซุ้มดอกไม้แซมด้วยรูปปั้นหน้าตาชวนมองให้เย็นใจ ส่วนโต๊ะเก้าอี้หรือม้านั่งยาวที่มีอยู่ทั่วยั่วยวนให้หย่อนก้นก็ถูกออกแบบตกแต่งด้วยสีสันที่เพลินใจ เงาไม้ต้นใหญ่ปกคลุมอยู่ทั่วทุกพื้นที่ทำให้สามรถเดินเล่นยามบ่ายได้อย่างไม่ต้องกลัวเต่าแตก นอกจากนี้ ไอความเย็นของผืนน้ำที่อยู่ใต้ฝ่าเท้ายังช่วยให้นักท่องเที่ยวรู้สึกผ่อนคลายและหนาวเนื้อนิดๆ


        เฉิดฉายกันสักรอบสองรอบ จากนั้นก็ถึงขั้นตอนที่จะส่องว่า แต่ละร้านเขามีข้าวของอะไรกันบ้าง สำหรับร้านรวงส่วนใหญ่ในตลาดแห่งนี้จะเป็นแนวของใช้ทำมือ เช่น เสื้อยืด กระเป๋า โปสการ์ด หรือของกระจุกกระจิกที่น่าสนใจ ซึ่งแต่ละชิ้นถูกจัดวางและประดิษฐ์ประดอยด้วยเจ้าของร้านผู้มีใจรักในงานศิลปะ ซึ่งคุณจะรู้สึกได้ถึงความติสเล็กๆ ของพ่อค้าแม่ขายขายที่บรรจงร่ายลีลาหว่านล้อม จนเราต้องยอมควักเงิน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายร้านที่อย่างไรๆ ก็ไม่ลดราคา แต่เขามีทีเด็ด ตรงที่ "พี่แถมให้นะ" แหม...รู้ใจนิสัยคนไทย

ความเชื่อต่างๆของไทย


อย่าส่งสิ่งของให้แก่ผู้ใดด้วยมือข้างซ้าย
เพราะมือซ้ายเป็นมือสกปรก เป็นมือชำระล้าง เป็นอัปมงคล เราจึงไม่นิยมส่งของ ให้เงิน ให้ของ ให้ศีลให้พร กันด้วยมือข้างซ้าย แม้การให้พรกัน ผลที่ได้รับมักเป็นไปในทางที่ตรงกันข้าม


แมวดำ หรือสัตว์วิ่งผ่านหน้าจากด้านขวาไปด้านซ้าย
หมายถึง ความอัปมงคลจะมาเยือน สิ่งร้ายๆ หรืออันตรายต่างๆ กำลังจะเข้ามาในการเดินทางครั้งนี้
วิธีแก้ไข อย่าข้ามเส้น ที่แมวนั้นตัดหน้าเรา ให้ถอยหลังแล้ว เปลี่ยนเส้นทางไปทางอื่น หากเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้ ให้หยุดพักรอ จนกว่าจะมีคนผ่านทางนี้ ไปก่อนหน้าเรา
ความร้ายจะบรรเทาลง ความเชื่อเรื่องนี้เกิดจากสีดำ และแมวเป็นลางบอกเหตุ
แมวเป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืนซึ่งเป็นโลกของวิญญาณรวมทั้งสีดำหมายถึงความลึกลับ หรือเหตุเรื่องราวที่คาดไม่ถึงพลิกความคามหมายนั่นสามารถแปลได้ว่า การเดินทางของเราวันนี้ไม่ดีมากกว่าดี ถ้าออกจากบ้านอาจไม่ได้กลับบ้าน
ถ้าเจอระหว่างทางการเดินทางต่อจากนี้ไปไม่ดี


อย่าเหยียบย่ำเมล็ดข้าว
ผู้คนจะหมดความเคารพนับถือ ทั้งนี้เพราะข้าวเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต หมายถึงให้ความเจริญแก่เรา



ผู้หญิงระหว่างมีประจำเดือนสตรีไม่ควรก้าวล้ำไปในวัด เข้าห้องครัว หรือร่วมปรุงอาหารเพราะการมีประจำเดือนอาจหมายถึง ความสูญเสีย การแท้งบุตร ความตาย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงจากอาณาบริเวณที่สร้างพลังหล่อเลี้ยงชีวิต และจิตใจเช่น ห้องครัว ศาสนสถาน วัดวาอารามต่างๆ การเข้าพบพระภิกษุสงฆ์


สีแดงเป็นสีแห่งโชคลาภและเป็นความรุ่งเรืองของชีวิต
เพราะเป็นสีที่ให้พลังงานคล้ายกับเปลวเพลิง และดวงอาทิตย์
สีขาว เป็นสีที่บริสุทธิ์ หมายถึง การชำระล้าง
ความสะอาดก็ได้ แต่โดยทั่วไปของมนุษย์ธรรมดาที่ยังมีกิเลสอาจมีความหมายไปในทางโศกเศร้าความหม่นหมอง และความพลัดพรากจากกันชาวจีนจึงแต่งชุดขาวเพื่อไว้ทุกข์ในงานศพ ดังนั้นการใช้สีขาวจึงต้องระวังไม่ควรใช้ทาบ้าน ทาห้องนอน

อย่าตัดเล็บในเวลากลางคืน
เพราะเชื่อกันว่าวิญญาณร้ายหรือสิ่งไม่ดีอาจเข้ามาสิงสู่ ผ่านเข้ามาทางเล็บมือเล็บเท้าที่ตัดใหม่ๆ ในเวลากลางคืน ช่วงเวลากลางคืนเป็นเวลาของโลกวิญญาณ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังตัว หากเป็นคนจิตไม่เข้มแข็งก็อาจพบกับเรื่องดังกล่าว

ก่อนตะวันตกดินควรปิดประตู หน้าต่าง
ป้องกันภูติผีปิศาจ ที่มากับสายลม เพราะวิญญาณนั้นเป็นธาตุลม เราอาจเลือกปิดเฉพาะทิศที่ไม่ดี โดยหมั่นสังเกตว่า ประตูหน้าต่างบานไหนเมื่อเปิดทิ้งไว้ในเวลากลางคืนมักทำให้ฝันร้าย หรือเกิดเหตุวุ่นวายตามมา ชาวอินโดนีเชียบางพวกมีความเชื่อ และกลัววิญญาณกับสิ่งลี้ลับที่มากับลมในช่วงเวลาเย็นค่ำมาก

ความฝันในตอนเช้ามักเป็นความจริง
เพราะเวลาเช้าก่อนตื่นขึ้นมาในความฝันสุดท้ายเชื่อกันว่าเทวดามาโปรดสัตว์ ซึ่งเคยเป็นญาติมิตรของท่าน สิ่งที่ท่านช่วยได้ดีที่สุดก็คือการมาบอกข่าวให้เราทราบนั่นเอง และมีข้อสังเกตว่าความฝันชนิดนี้จะต้องมีสีชัดเจนเท่านั้นจึงจะเชื่อถือได้ ไม่ใช่เป็นความฝันที่มีภาพแบบขาวดำหรือจำไม่ได้ว่าเป็นสีอะไร

อย่ากางร่มในบ้าน
การกางร่มเพียงเพื่อป้องกันแดดและฝนเท่านั้น ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือการกางร่มเดินนำหน้าศพคนตายดังนั้นการกางร่มในบ้าน เปรียบเสมือน ลางร้าย ว่ากำลังจะเกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้านนั่นเอง

อย่าฉลองวันเกิดก่อนถึงวันเกิด
เมื่อถึงวันครบรอบวันเกิดหมายถึงเราจะมีอายุเพิ่มขึ้น และเข้าใกล้ความตายมากขึ้น
ดังนั้นการฉลองวันเกิดก่อนถึงวันจริงจึงหมายถึงการรีบเร่งไปสู่ความตาย


ที่มา:http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=voiceofangel&month=24-04-2008&group=4&gblog=5

สาระน่ารู้เกี่ยวกับผ้าไหม

ผ้าไหม
       ในอดีตการเลี้ยงไหม ทอผ้าไหมมีการทำกันในลักษณะที่เป็นครัวเรือนขนาดเล็ก และใช้บริโภคเองภายในครัวเรือน มีการทำเองไปใช้ในงานพิธีงานต่างๆ เช่น งานบุญ งานแต่งงาน เป็นต้น
       ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แห่งกรุ'รัตนโกสินทร์ ได้มีการส่งเสริมการใช้ผ้าไหม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมโดยได้รับความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่น แต่การดำเนินก็ทำได้เพียงระยะหนึ่งโครงการดังกล่าวก็ได้หยุดชะงักไป เพราะเกษตรกรยังคงที่จะทำในลักษณะแบบเดิมไม่มีความเคยชินต่อสิ่งที่จะมีการปรับเปลี่ยนทางด้านการผลิตไปสู่แบบใหม่ที่ได้รับการพัฒนาประยุกต์ขึ้นจากความช่วยเหลือชาวญี่ปุ่น
      จนกระทั่งในยุคของหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดจุดเปลี่ยนของไหมไทยขึ้น โดยบุคคลชาวอเมริกาที่มีชื่อว่า เจมส์ แฮร์สัน วิสสัน ทอมป์สัน หรือที่ชาวไทยรู้จักรกันดีในนามว่า จิม ทอมป์สัน เป็นผู้ที่มีความสนใจทางด้านศิลปะ โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ลาว และเขมร ท่านผู้นี้ได้มีการเสาะหา เก็บรวบรวมซื้อผ้าไหมไทยลวดลายต่างๆ เก็บสะสมไว้ และได้มีความสนใจศึกษาลวดลายดีๆ ในหมู่บ้านที่เป็นแหล่งการผลิตไหม ตลอดจนการเสาะหาช่างทอผ้าไหมที่มีฝีมือ โดยได้ค้นพบช่างที่ถูกใจในกรุงเทพฯ บริเวณบ้านครัว (บริเวณด้านหลังโรงแรมเอเชียราชเทวีในปัจจุบัน) ซึ่งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านครัวในปัจจุบัน (2548) ก็ยังคงหลงเหลือให้ไปเยี่ยมชมได้
ชาวบ้านครัวดั้งเดิมเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายเขมร เข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากมีความชำนาญ และความสามารถในการทอผ้าไหมที่มีติดตัวมาแล้ว ยังมีความสามารถในการรบทางเรือด้วย จากที่จิม ทอมป์สัน ได้มาส่งเสริมให้ชาวบ้านครัวทอผ้าไหม ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
       ลักษณะการทอผ้าไหมดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมาก็จะเป็นการผลิต ผืนละ 3-4 หลา ต่อมาได้มีการปรับขบวนการทอผ้าไหมไทยโดยนำเอาตลาดเข้ามาใช้เป็นการวางแผนการผลิต รวมทั้งการใช้สีสันต่างๆ เพื่อการขยายตัวตลาดผ้าไหมไทยมีเพิ่มมากขึ้น นับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดไหมไทยให้คนทั่วโลกได้รู้จักไหมไทย และนำเอาผ้าไหมไทยไปใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นรู้จักผ้าไหมไทยมากขึ้น และทำให้ผ้าไหมไทยได้มีโอกาสเข้าสู่วงการเสื้อผ้าต่างประเทศ ส่งผลให้ตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดไหมไทยที่ใหญ่ที่สุ
       จากอดีตถึงปัจจุบัน ผ้าไหมไทย ได้มีโอกาสเข้าสู่วงการภาพยนตร์ตะวันตก โดยมีการตัดเป็นเครื่องแต่งกายของผู้แสดงในเรื่องเบนเฮอร์ (Ben - hur) รวมทั้งละครบรอดเวย์ The King and I ต่อมาปิแอร์ มาลแมอ เป็นนักดีไซน์เนอร์ชาวฝรั่งเศสได้นำผ้าไหมไปออกแบบชุด ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในคราวที่พระองค์เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในปี 2502 นับเป็นโอกาสของไหมไทยที่ได้มีการก้าวนำไปสู่วงการเสื้อผ้าโลกได้เป็นอย่างดี
         จากจุดเริ่มต้นในการนำไหมไทยสู่เวทีการค้าโลก นับเป็นลู่ทางที่ค่อนข้างสดใสที่ได้ส่งผลสะท้อนกลับมายังรัฐบาลไทยที่จะต้องกำหนดเป็นนโยบายอย่างชัดเจนเพื่อวางรากฐานของการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ คือเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไปถึงผู้ทอผ้าไหมแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจำหน่ายโดยนักการตลาดมืออาชีพเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไหมไทยเป็นสินค้าหนึ่งในตลาดโลกอย่างยั่งยืน





ประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทง
              ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน

ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า
      
 

          ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฎในหนังสือนางนพมาศที่ว่า "ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้ป็นลวดลาย..."

             เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า "ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน" พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ขนมไทยมงคล 9 ชนิด

  
         ขนมไทยที่ชื่อเป็นมงคล 9 ชนิดที่กำลังจะเล่า  เป็นขนมไทยที่นิยมใช้ในงานมงคลหรือมอบให้เป็นของขวัญเพื่อแสดงถึงความเป็นสิริมงคล  ความดีงามและความเจริญรุ่งเรืองค่ะ

           

        ขนมอย่างแรกคือทองหยิบ  ขนมชนิดนี้จะต้องใช้ความปราณีตอย่างมากในการทำ  ลักษณะของขนมจะเป็นรูปดอกไม้  แม่ครัวจึงต้องจับกลีบของทองหยิบให้งดงามเหมือนกลีบดอกไม้  ขนมชนิดนี้จะแสดงถึงการมอบความมั่งคั่งร่ำรวย  กระทำการงานอันใดก็จะมีเงินมีทอง  สมดังชื่อขนมคือ  ทองหยิบ-หยิบทอง  นั่นเอง
          

        ขนมอย่างที่ 2 ก็คือ ทองหยอด ลักษณะของทองหยอดจะลูกกลมสวยสีทองเหลืองอร่าม  การให้ทองหยอดก็เปรียบเสมือนการอวยพรให้ร่ำรวย  มีเงินทองใช้ไม่หมดสิ้น  เปรียบดั่งการให้ทองคำแก่กัน









          


         ขนมอย่างต่อไปคือฝอยทอง  ฝอยทองจะเป็นเส้นติดกันเป็นแพ  แม่ครัวจะทำเป็นเส้นแพยาวๆพับทบไปทบมา  นิยมให้กันในงานมงคลสมรส  ที่สำคัญคือเขาถือเคล็ดกันว่าห้ามตัดขนมให้สั้น  ต้องปล่อยให้ยาวๆแบบนี้แหละค่ะ  เนื่องจากมีความเชื่อว่าคู่บ่าวสาวจะได้ครองชีวิตคู่และรักกันอย่างยืนยาว เหมือนเส้นแพยาวๆของฝอยทอง







 ขนมอย่างสุดท้ายของตระกูลทองคือทองเอก  เป็นขนมที่หากินได้ยากมากในปัจจุบัน  เนื่องจากขั้นตอนการทำค่อนข้างยากและพิถีพิถัน  สวยงามและโดดเด่นกว่าขนมตระกูลทองชนิดอื่นๆตรงที่มีการติดทองคำเปลวไว้ด้าน บน  ลักษณะของขนมทองเอกจะเป็นรูปดอกไม้แกะสลักแบบแตกต่างกันไป  ลวดลายจะค่อนข้างละเอียดและปราณีตมาก  ขนมชนิดนี้จะหมายถึงความเป็นที่หนึ่งหรือเป็นที่สุด  เนื่องจากคำว่าเอก  แปลว่า หนึ่ง  นิยมให้กันในการแสดงความยินดีเรื่องการเลื่อนยศ  เลื่อนตำแหน่ง  เป็นการแสดงความยินดีและอวยพรให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน  เป็นที่หนึ่งหรือที่สุดในการทำงาน

          
           ขนมอย่างที่ 5 คือ ขนมชั้น  ที่ชื่อขนมชั้นเพราะลักษณะขนมจะเป็นชั้นๆทั้งหมด 9 ชั้นค่ะ  แต่ปัจจุบันนี้มีขนมชั้นที่นำมาขดเป็นรูปดอกกุหลาบ  ก็สวยไปอีกแบบและไม่ทิ้งรสชาติความอร่อยของขนมชั้นแบบเดิมๆเลยค่ะ  ส่วนความหมายของขนมชั้นก็คือ  การเลื่อนขั้น  เลื่อนชั้น  เลื่อนยศให้สูงส่งยิ่งๆขึ้นไป  และเจริญก้าวหน้าเพราะคล้องกับเลข 9 ซึ่งเป็นจำนวนชั้นของขนมค่ะ


  
          ขนมอย่างที่ 6 คือ  เม็ดขนุน  ไม่ใช่เอาเมล็ดของขนุนมาทำนะคะ  แต่ลักษณะของขนมชนิดนี้ไปละม้ายคล้ายกับเมล็ดของขนุน  จึงตั้งชื่อตามลักษณะรูปร่างของขนม  แม่ครัวจะบดถั่วเขียวทำเป็นไส้และด้านนอกที่เป็นสีเหลืองคือเคลือบด้วยไข่แดง  ความหมายของขนมเม็ดขนุนคือ  การที่จะมีคนสนับหนุน  ค้ำจุนให้เจริญก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงาน




  
      ขนมอย่างที่ 7 คือ  จ่ามงกุฏ  ซึ่งเป็นขนมอีกหนึ่งชนิดที่หาทานได้ยากและทำยากมากเช่นกัน  ชื่อขนมจ่ามงกุฏ  หมายถึงการเป็นหัวหน้าสูงสุด  นิยมให้เพื่อแสดงความยินดีและอวยพรในงานเลื่อนยศ  เลื่อนตำแหน่ง  ให้มีความเจริญก้าวหน้าในการงานยิ่งๆขึ้นไป  ลักษณะของขนมชนิดนี้ก็คล้ายกับมงกุฏที่ประดับด้วยเมล็ดแตงโมและทองคำเปลว





           ขนมอย่างที่ 8 คือ เสน่ห์จันทน์  ซึ่งมีลักษณะเหมือนลูกจันทน์  แสดงให้เห็นถึงความมีเสน่ห์  เป็นที่รักของผู้อื่น  ไม่มีคนเกลียดชัง  ขนมชนิดนี้จะนิยมใช้ประกอบในงานมงคลสมรส





  


       ขนมชนิดสุดท้ายคือ ถ้วยฟู  เคล็ดลับก็คือจะนำน้ำดอกไม้สดมาเป็นส่วนผสมเพื่อให้เกิดกลิ่นหอม  ความหมายของถ้วยฟูก็เหมือนชื่อขนมเลย  คือ  ความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟู  ใช้สำหรับพิธีมงคลได้ทุกพิธี





ที่มา :  http://nongsukjai.wordpress.com